เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 4

7
อรูป1 4
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
1. บรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ อยู่
เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญาโดย
ประการทั้งปวง
2. ล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาณัญจายตน-
ฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่
3. ล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตน-
ฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่
4. ล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานา-
สัญญายตนฌานอยู่

8
อปัสเสนธรรม2(ธรรมเป็นดุจพนักพิง) 4
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
1. พิจารณาแล้วเสพอย่างหนึ่ง
2. พิจารณาแล้วอดกลั้นอย่างหนึ่ง
3. พิจารณาแล้วเว้นอย่างหนึ่ง
4. พิจารณาแล้วบรรเทาอย่างหนึ่ง

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ที.ม. (แปล) 10/129/75
2 ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) 24/20/40

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :281 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [10. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด 4

9
[309] อริยวงศ์1 4
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
1. สันโดษด้วยจีวรตามแต่จะได้ กล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวร
ตามแต่จะได้ ไม่มีการแสวงหาอันไม่สมควรเพราะจีวรเป็นเหตุ ไม่ได้
จีวรก็ไม่กระวนกระวาย ครั้นได้แล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หมกมุ่น ไม่ลุ่มหลง
มองเห็นโทษ2 มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยอยู่ และไม่ยก
ตนข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยจีวรตามแต่จะได้นั้น ภิกษุใด
ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคงในความสันโดษด้วย
จีวรตามแต่จะได้นั้น ภิกษุนี้เราเรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ ที่รู้กันว่า
ล้ำเลิศ เป็นของเก่า
2. สันโดษด้วยบิณฑบาตตามแต่จะได้ กล่าวสรรเสริญความสันโดษ
ด้วยบิณฑบาตตามแต่จะได้ ไม่มีการแสวงหาอันไม่สมควรเพราะ
บิณฑบาตเป็นเหตุ ไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่กระวนกระวาย ครั้นได้แล้วก็
ไม่ติดใจ ไม่หมกมุ่น ไม่ลุ่มหลง มองเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่อง
สลัดออก ฉันอยู่ และไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วย
บิณฑบาตตามแต่จะได้นั้น ภิกษุใดขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ
มีสติมั่นคงในความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามแต่จะได้นั้น ภิกษุนี้
เราเรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ ที่รู้กันว่าล้ำเลิศ เป็นของเก่า

เชิงอรรถ :
1 อริยวงศ์ แปลว่าวงศ์ของพระอริยะ แบบแผนของพระอริยะ และประเพณีของพระอริยะ หมายถึงวงศ์ของ
พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกของพระพุทธเจ้า (ที.ปา.อ. 309/209, องฺ.จตุกฺก.อ.
2/28/311) ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/28/43-44
2 มองเห็นโทษ ในที่นี้หมายถึงมองเห็นการต้องอาบัติเพราะการแสวงหาไม่สมควร และการบริโภคลาภ
ที่ติดใจ (องฺ.จตุกฺก.อ. 2/28/317)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :282 }